ขั้นตอนการทำงาน

เสาเข็มเจาะไทย v2psdเสาเข็มเจาะไทย-1080-final4ขาว

ขั้นตอนการทำงาน

1. ติดตั้งสามขา (Tripod Rig) ให้ตรงกับตำแหน่งที่จะทำการเจาะเสาเข็ม

2. การขุดเจาะเสาเข็มด้วยกระเช้าเก็บดิน ( Bucket)

3. การลงเหล็กเสริม เสาเข็มเจาะแห้ง

4. การเทคอนกรีต เสาเข็มเจาะแบบแห้ง

5. การถอนปลอกเหล็ก(casting)ของ เสาเข็มเจาะขนาดเล็ก

6. เสร็จสิ้นขั้นตอนการทำเสาเข็มเจาะ


1.ติดตั้งสามขา (Tripod Rig) ให้ตรงกับตำแหน่งที่จะทำการเจาะเสาเข็ม

          ติดตั้งสามขา (Tripod Rig) ให้ตรงกับตำแหน่งที่จะทำการเจาะเสาเข็ม เมื่อตรวจสอบตำแหน่งถูกต้องแล้ว ใช้กระเช้าเจาะนำก่อนประมาณ 1 เมตร ลงปลอกเหล็กตามขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของเสาเข็มให้ตรงตามตำแหน่งที่กำหนดไว้โดยใช้สามขา และใช้ลูกตุ้มน้ำหนักขนาดประมาณ 700 – 800 กิโลกรัม ตอกปลอกเหล็กที่มีความยาวท่อนละ 1.20 – 1.50 เมตร ลงดิน ปลอกเหล็กแต่ละท่อนจะต่อกันด้วยเกลียว ความยาวของปลอกเหล็กโดยรวมต้องเพียงพอที่จะป้องกันชั้นดินอ่อนพัง ในขณะลงปลอกเหล็กจะทำการตรวจวัดค่าความเบี่ยงเบนทั้งแนวราบ และแนวดิ่ง โดยค่าความเบี่ยงเบนที่ยอมให้คือ

  ความเบี่ยงเบนแนวราบ 5 เซนติเมตร สำหรับเสาเข็มเดี่ยว

  ความเบี่ยงเบนแนวราบ 7 เซนติเมตร สำหรับเสาเข็มกลุ่ม

  ความเบี่ยงเบนแนวดิ่ง 1 : 100 โดยรวม

2. การขุดเจาะเสาเข็มด้วยกระเช้าเก็บดิน ( Bucket)

          ทำการขุดเจาะดินด้วยกระเช้าเก็บดิน (Bucket) โดยใช้กระเช้าเก็บดินชนิดที่มีลิ้นเปิดปิดที่ปลาย และชนิดที่ไม่มีลิ้นเปิดปิดที่ปลายขุดเจาะดินจนได้ระดับความลึกตามที่ต้องการ ในระหว่างเอาดินขึ้นจากหลุมเจาะจะต้องหมั่นตรวจสอบผนังของรูเจาะว่ามีการพังหรือยุบเข้าหรือไม่ โดยสังเกตจากดินที่เจาะขึ้นมาจะต้องเหมือนกับลักษณะดินที่ทำการเจาะเสาเข็มต้นที่ผ่านมา ที่ระดับความลึกเดียวกันดินจะต้องเป็นลักษณะเดียวกัน ถ้าพบว่ามีดินพังจะต้องทำการตอกปลอกเหล็กลงไปให้ลึกอีก


3. การลงเหล็กเสริม เสาเข็มเจาะแห้ง

          ลงเหล็กเสริมขนาดและความยาวตามที่กำหนด ต้องมีการตรวจสอบความลึกของเสาเข็มโดยการวัดความยาวของสลิงรวมกับความยาวของกระเช้า หรืออาจจะสังเกตจากลักษณะดินของการทำเสาเข็มของต้นที่ผ่านมา นอกจากนี้แล้วต้องสำรวจก้นหลุมว่ามีน้ำซึมของมาหรือไม่โดยใช้ไฟส่องดู ถ้ามีน้ำซึมออกมาให้เทคอนกรีตแห้งลงไปประมาณ50 เซนติเมตร และกระทุ้งให้แน่นด้วยตุ้มเหล็ก จากนั้นใช้ปูนทราย 1 : 1.5 เทลงไปประมาณอีก 30 – 50 เซนติเมตร ก่อนลงเหล็กเสริม

          ปกติจำนวนเหล็กเสริมมีค่าประมาณ 0.35% – 1.00 % ของพื้นที่หน้าตัดเสาเข็ม ความยาวของการต่อทาบเหล็กในแต่ละวงเป็น 40 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางเหล็ก การต่อทาบเหล็ก เป็นการต่อโดยการมัดด้วยลวดผูกเหล็ก มิใช่การเชื่อม ( มาตรฐาน วสท. ) เหล็กปลอก โดยทั่วไประยะห่างระหว่างเหล็กปลอกจะไม่เกิน 0.20 เมตร และทำการลงเหล็กเสริม โดยยกให้ปลายเหล็กพ้นจากปลายล่างของหลุมเจาะประมาณ 0.50 เมตร และทำการยึดเหล็กเสริมให้แน่นอย่าให้ขยับเขยื้อนได้ขณะเทคอนกรีต


4. การเทคอนกรีต เสาเข็มเจาะแบบแห้ง

          เทคอนกรีต ก่อนการเทคอนกรีตจะต้องมีการเก็บตัวอย่างแท่งทดสอบทรงกระบอก 15×30 เซนติเมตรเพื่อหากำลังอัดคอนกรีตที่ 28 วันแล้วจึงทำการเทคอนกรีตผ่านกรวยเทคอนกรีต (Hopper) ที่มีความยาวประมาณ 1.50 – 2.00 เมตร เพื่อให้คอนกรีตหล่นตรงกลางรูเจาะ และเพื่อให้คอนกรีตเกิด Self Compaction จึงกำหนดให้คอนกรีตมีค่า Slump Test อยู่ในช่วง 10.00 – 12.50 เซนติเมตร

          การเทคอนกรีตนั้นจะเทคอนกรีตจนเต็มหรือเกือบเต็มหลุมเจาะ ก่อนทำการถอนปลอกเหล็ก ซึ่งจะทำให้คอนกรีตมีความต่อเนื่องและขณะถอนปลอกเหล็กจะมองเห็นสภาพการยุบตัวของคอนกรีตได้ชัดเจน ทำให้มั่นใจได้ว่าเสาเข็มมีความสมบูรณ์ตลอดความยาว

          การเทคอนกรีตจนเต็มหรือเกือบเต็มหลุมเจาะนี้แม้จะเป็นข้อดี แต่จะกระทำได้สำหรับเสาเข็มเจาะที่เจาะดินไม่ผ่านชั้นทรายชั้นแรกเท่านั้น เพราะหากต้องเจาะผ่านชั้นทรายชั้นแรก จำเป็นต้องลงปลอกเหล็กยาวลงไปกันชั้นทราย (ปลอกเหล็กมีความยาวมากกว่า 20.00 เมตร) การเทคอนกรีตขึ้นมามากเกินไป จะทำให้ไม่สามารถถอนปลอกเหล็กขึ้นได้ เพราะกำลังเครื่องจักรไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องทำการเทคอนกรีต และถอนปลอกเหล็กกันดินเป็นช่วงๆ กรณีเช่นนี้ควรมีวิศวกรที่ชำนาญงาน คอยตรวจเช็คระดับคอนกรีตภายในปลอกเหล็กตลอดเวลาที่ดำเนินการถอน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่มีการไหลดันของดินและน้ำเข้ามา จนทำให้เสาเข็มคอดหรือขาดจากกัน ส่วนการทำให้คอนกรีตแน่นจะทำการอัดลมเพื่อให้คอนกรีตแน่นตัวมากยิ่งขึ้น


5. การถอนปลอกเหล็ก(casting)ของ เสาเข็มเจาะขนาดเล็ก

          ถอนปลอกเหล็กด้วยรอกพวง จะต้องเทคอนกรีตให้มีระดับสูงกว่าปลอกชั่วคราวพอสมควรจึงจะเริ่มถอดปลอกเหล็กขึ้นโดยปกติขณะถอดปลอกควรให้คอนกรีตอยู่ในปลอกเหล็กไม่น้อยกว่า 3 เมตรเพื่อป้องกันไม่ให้ชั้นดินอ่อนบีบตัวซึ่งจะทำให้ขนาดเสาเข็มเปลี่ยนไปและเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำใต้ดินซึมผ่านเข้าไปในรูเจาะขณะถอดปลอกเหล็ก และหากคอนกรีตมีการยุบตัวจะเติมคอนกรีตเพิ่ม ระดับคอนกรีตที่เทเพิ่มจะเผื่อให้สูงกว่าหัวเสาเข็มที่ต้องการไม่น้อยกว่า 0.50 เมตรเพื่อสกัดคอนกรีตที่มีเศษดินร่วงหล่นลงขณะถอนปลอกเหล็ก ในระหว่างการถอดปลอกเหล็กจะทำการอัดลมลงในหลุมเจาะ เพื่อทำให้คอนกรีตแน่นตัว


6. เสร็จสิ้นขั้นตอนการทำเสาเข็มเจาะ

          เสร็จสิ้นขั้นตอนการทำเสาเข็มเจาะ ทำการเขียนกำกับหมายเลขเสาเข็ม วัน เวลาที่เจาะและเทคอนกรีต ความคลาดเคลื่อนของเสาเข็ม ระยะเบี่ยงเบนในแนวดิ่ง และทำการจดบันทึกอุปสรรคหรือเหตุการผิดปกติทุกอย่างระหว่างทำเสาเข็มเพื่อส่งให้ผู้ควบคุมงานหรือวิศวกรผู้ออกแบบพิจารณาต่อไป จากนั้นทำเสาเข็มต้นต่อไป โดยเสาเข็มต้นต่อไปต้องอยู่ห่างจากเสาเข็มที่เพิ่งทำแล้วเสร็จ ไม่น้อยกว่า 6 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางเสาเข็ม หรือใกล้เคียงเสาเข็มต้นเดิมที่ทำแล้วเสร็จไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง


Scroll Up